วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

เรื่องของวัยรุ่น

จริงหรือที่วัยรุ่น “ลํ้าหน้า” ในเรื่องเพศ?
จากการทำงานเรื่องเพศศึกษากับกลุ่มเยาวชน มักได้ยินผู้ใหญ่ที่ดูแลเยาวชนบ่นถึงพฤติกรรมของเด็กให้ฟังบ่อยๆ ว่า
“เด็กเดี๋ยวนี้ใจกล้าขึ้น” หรือ “เรื่องเพศนี่ไม่ต้องไปสอนหรอก เด็กรู้ยิ่งกว่าเราอีก” ฯลฯ
คำถามที่น่าสนใจคือ จริงหรือที่เด็กๆ “ลํ้าหน้า” ในเรื่องเพศ?...
แต่ไหนแต่ไรมา เรา “ถูกกำหนด” ให้เป็น “ผู้หญิง” หรือ “ผู้ชาย” ตามคำสั่งสอนที่จำแนกคนตามอวัยวะเพศ
ถ้าเป็นหญิงก็ “อย่าให้ท่าผู้ชาย” “ต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน มีหน้าที่เลี้ยงดูลูก”
หากเป็นชายก็ “ต้องเป็นช้างเท้าหน้า” “ต้องแสวงหาประสบการณ์ทางเพศ”
ถ้าลองสังเกตคำสอนเหล่านี้จะเห็นว่า เพศหนึ่งถูกกดลง และอีกเพศหนึ่งถูกเชิดชูขึ้น
ทว่าที่ใดมีแรงกด ที่นั่นย่อมมีแรงต้าน กดทางโน้น มันก็จะไปโป่งอีกทาง
นอกจากนั้น คำสอนเหล่านี้ก็ขัดแย้งกันเองอย่างไร้เหตุผล เช่น พรหมจรรย์เป็นสิ่งที่ต้องสงวนไว้ให้กับชายที่รักและเป็นคู่ชีวิต ขณะที่ผู้ชายก็ถูกบอกให้แสวงหาประสบการณ์ทางเพศให้มากๆ
แล้วพรหมจรรย์-ที่ถูกบอกว่ามีคุณค่าแก่ลูกผู้หญิงทั้งหลาย-จะเป็นยังไงได้เล่า ลูกผู้หญิงทั้งหลาย จะมีมุมมองต่อคุณค่าของตัวเองได้อย่างไร?
มาตรฐานของสังคมเช่นนี้แทรกซึมในทุกระบบ จนมาถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเรียนรู้ของคนไม่ได้ถูกจำกัดจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเหมือนเมื่อก่อน ผู้คนเลือกเสพย์สื่อได้แค่ปลายนิ้ว
กรอบที่กำหนดและเคยเป็นเครื่องมือในการควบคุมเรื่องเพศในอดีต ก็ถูกปะทะกับความคิด ความเชื่อ ของคนรุ่นใหม่อย่างรุนแรง
ในที่สุด “ภาพลักษณ์” ของวัยรุ่นยุคนี้จึงถูกสร้างขึ้นว่า กล้าพูด กล้าแสดงความรัก ความพึงพอใจทางเพศอย่างเปิดเผย มีความสัมพันธ์ทางเพศเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหากพิจารณากรอบแนวคิดเดิมในเรื่องเพศ ที่ควบคุมให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคนรัก ไม่ใช่กับใครก็ได้ เพื่อมอบสิ่งที่ถูกบอกว่า “ควรเก็บไว้” ให้กับคนรัก ก็เป็นไปได้ใช่ไหมที่วัยรุ่นจะตีความว่า “ในเมื่อคบใคร ก็ล้วนแต่รักและจริงใจนี่ ผิดตรงไหนล่ะ?”
ประกอบกับความรักเห็นได้ง่ายขึ้นทางทีวี นิตยสาร ฯลฯ และการเป็นหนุ่ม-สาวที่ไม่ผ่านการ “สมรส” ที่มีช่วงชีวิตที่ยาวขึ้น หลอมรวมให้วัยรุ่นในสังคมยุคปัจจุบันเกิดความสับสนและกลายเป็นการต่อต้านกับกรอบเดิม
ผู้ใหญ่จึงตามไม่ทัน และวัยรุ่นจึง “ถูกมอง” ว่าเป็นตัวปัญหาของสังคม เพราะกำลังทลายกรอบมาตรฐานเรื่องเพศที่มีมาอย่างยาวนานลง
ผู้ใหญ่คงต้องกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมคุมพฤติกรรมทางเพศของเด็กไม่ได้? ความเชื่อแบบเดิมๆ ที่หวังจะคุมคน มันต้องมีเหตุผลและวิธีที่เนียนและใหม่กว่าหรือไม่?
และอาจต้องถามตัวเองให้ชัดๆ ว่า เราห่วงเด็ก หรือห่วงอำนาจที่ไม่สามารถควบคุมเด็กได้กันแน่..
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น